ชื่อเรื่อง การพัฒนาโปรแกรมพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ โดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้
ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหาของนักเรียน
โรงเรียนห้วยข่าพิทยาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
ผู้วิจัย นายเทวินทร์ โตไทยะ
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะ รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนห้วยข่าพิทยาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
ปีที่วิจัย 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาองค์ประกอบและตัวชี้วัดของการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ โดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหาของนักเรียน 2) ศึกษาสภาพปัจจุบัน สภาพที่พึงประสงค์ของการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ โดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหาของนักเรียน 3) สร้างและพัฒนาโปรแกรมพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ โดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหาของนักเรียน 4) ประเมินผลการใช้โปรแกรมพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ โดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหาของนักเรียน โรงเรียนห้วยข่าพิทยาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี แบ่งการวิจัยออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษาองค์ประกอบและตัวชี้วัดของการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหาของนักเรียน กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน เพื่อยืนยันความเหมาะสมขององค์ประกอบและตัวชี้วัดของการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ ระยะที่ 2 ศึกษาสภาพปัจจุบัน สภาพที่พึงประสงค์ของการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหาของนักเรียน กลุ่มเป้าหมาย คือ ข้าราชการครูในโรงเรียนห้วยข่าพิทยาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ปีการศึกษา 2563 จำนวน 25 คน ระยะที่ 3 สร้างและพัฒนาโปรแกรมพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ โดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหาของนักเรียน กลุ่มผู้ให้ข้อมูล คือ กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 7 คน ระยะที่ 4 ประเมินผลการใช้โปรแกรมพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ โดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหาของนักเรียน กลุ่มเป้าหมาย คือ ข้าราชการครูในโรงเรียนห้วยข่าพิทยาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ปีการศึกษา 2563 จำนวน 25 คน เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม และแบบสอบถาม แบบประเมินโปรแกรม สถิติที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
- องค์ประกอบและตัวชี้วัดของการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ มีองค์ประกอบจำนวน 5 องค์ประกอบ 15 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) ด้านการบูรณาการฝึกทักษะการคิดและแก้ปัญหาเนื้อหาในกลุ่มสาระการเรียนรู้ 2) ด้านการออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นเน้นทักษะการคิดและแก้ปัญหา 3) ด้านการใช้รูปแบบและเทคนิควิธีการสอนด้านการคิดและแก้ปัญหา 4) ด้านการพัฒนาสื่อและนวัตกรรมที่เน้นการคิดและแก้ปัญหา และ 5) ด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ผลการประเมินองค์ประกอบการจัดการเรียนรู้ของครู พบว่า ทั้งทุกองค์ประกอบมีความเหมาะสมอยู่ในเกณฑ์ระหว่าง 0.80-1.00
- ผลการศึกษาสภาพปัจจุบันของการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ โดยรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.47 และสภาพที่พึงประสงค์ของการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ โดยรวมมีค่าเฉลี่ยระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.52
- โปรแกรมพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหาของนักเรียน มีองค์ประกอบดังนี้คือ หลักการ วัตถุประสงค์ เนื้อหา วิธีการพัฒนา และการวัดและประเมินผลโปรแกรม เพื่อพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้ ผู้วิจัยได้ออกแบบเนื้อหาของโปรแกรมโดยเน้นเนื้อหาตามค่าดัชนีความต้องการจำเป็นที่มีความต้องการเรียงตามลำดับคือ การออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการคิดและแก้ปัญหา (PNImodified =0.28) การพัฒนาสื่อและนวัตกรรมที่เน้นการคิดและแก้ปัญหา (PNImodified = 0.27) การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ (PNImodified =0.26) การใช้รูปแบบและเทคนิควิธีการสอนด้านการคิดและแก้ปัญหา (PNImodified =0.23) และการบูรณาการฝึกทักษะการคิดและแก้ปัญหาวิเคราะห์เนื้อหาในกลุ่มสาระการเรียนรู้ (PNImodified =0.21) ตามลำดับ วิธีการพัฒนาโดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ประกอบด้วยกิจกรรม การฝึกอบรม การใช้ระบบพี่เลี้ยง และการศึกษาดูงาน ผลการประเมินโปรแกรมพัฒนาโดยผู้ทรงคุณวุฒิพบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
- ผลการประเมินการใช้โปรแกรมพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ โดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหาของนักเรียน โรงเรียนห้วยข่าพิทยาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี พบว่า ครูมีพฤติกรรมด้านการจัดการเรียนรู้โดยภาพรวมอยู่ในระดับดี และครูมีความพึงพอใจต่อการใช้โปรแกรมอยู่โดยภาพรวมในระดับดีมาก